วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เก๋ากี้ ขุมทรัพย์สีทับทิมแห่งเขตหนิงเซี่ย


เก๋ากี้ ผลไม้แห้งเมล็ดเล็กเรียว สีส้ม แดงสด ที่ชาวไทยรู้จักกันดีในฐานะหนึ่งในพืชสมุนไพรจีนที่เป็นส่วนผสมอาหารคาวหวานหลากชนิดด้วยชื่อเสียงด้านคุณค่าทางสารอาหารที่เลื่องลือ ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานจะขอนำทุกท่านเดินทางไปยังเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น “แหล่งผลิตเก๋ากี้ที่ดีที่สุดในโลก”






เมล็ดเก๋ากี้ , Wolfberry, Red Medlar, 枸杞 (โก๋วฉี่) ในภาษาจีนกลาง หรือ Goji Berry ในทางการค้า ต่างเป็นสรรพนามที่นานาประเทศขนานนามถึงพืชชนิดหนึ่งที่มีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Lycium Barbarum เป็นเก๋ากี้สายพันธุ์ที่พบในภาคเหนือของจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตหนิงเซี่ย) เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วนทั้งราก ใบ หน่อ ดอก และผล โดยทั้ง 2 สายพันธุ์จัดอยู่ในตระกูล Solanaceae nightshade เช่นเดียวกันกับมันฝรั่ง มะเขือยาว พริก และ ใบยาสูบ
เก๋ากี้ถูกใช้ในวงการแพทย์แผนโบราณของจีนมายาวนานกว่า 5,000 ปี เป็น 1 ใน 3 ยาจีนล้ำค่าเช่นเดียวกับโสมและชาเขียว ตำรา神农本草经 (ตำราสมุนไพรของเสินหนง ; เทพกสิกร) ตำราพืชทางการแพทย์ยุคแรกเริ่มของจีนในสมัย 475-225 B.C. มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า เมล็ดเก๋ากี้มีสารอาหารที่สำคัญหลากชนิด ช่วยในการซ่อมแซมและฟื้นฟูอวัยวะสำคัญของร่างกาย บำรุงเลือด สายตา ตับ และไต เพิ่มพลัง “ ชี่ ” หรือพลังชีวิต เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและกล้ามเนื้อ และช่วยให้อายุยืน






ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า เมล็ดเก๋ากี้จากหนิงเซี่ยแต่ละเมล็ดประกอบด้วยกรดอะมิโน 18 จาก 20 ชนิดที่ร่างกายใช้ในการสร้างโปรตีน อุดมไปด้วย Polysaccharides  มีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ อุดมไปด้วยสาร Antioxidant ในกลุ่ม Polyphenol และ Flavonoid สูงกว่าพืชทั่ว ๆไป มีใยอาหารสูงถึงร้อยละ 20 มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอท มีแคลเซียมสูงกว่าบร๊อคโคลี่ และมีค่า ORAC (สมรรถภาพการดูดซับอนุมูลอิสระของออกซิเจน) สูงกว่าเก๋ากี้จากที่อื่น ๆ กว่าร้อยละ 50 ยิ่งไปกว่านั้น เก๋ากี้จากหนิงเซี่ยเป็นเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในหนังสือแพทย์แผนจีนร่วมสมัย The Pharmacopoeia of the People’s Republic of China ที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจีนและเป็นยอมรับในวงกว้าง












เขตหนิงเซี่ยมีชื่อเสียงด้านการเพาะปลูกเก๋ากี้มากว่า 600 ปี เชื่อกันว่าแต่เดิม ต้นเก๋ากี้เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณป้อมโบราณฉางเล่อเป่า หย่งคังเป่า และ ซวนเหอเป่า ริมแม่น้ำเหลืองในเขตเมืองจงเว่ย แล้วถูกนำมาเพาะปลูกโดยชาวบ้านชนชาติหุยและฮั่นในเวลาต่อมา ผ่านระยะเวลาการคัดกรองสายพันธุ์ที่ยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นเก๋ากี้คุณภาพสูงตามตำรา “ สีสด ผลโต เปลือกบาง เนื้อแน่น เมล็ดน้อย และมีรสหวานจัด” ซึ่งทำให้เก๋ากี้จากหนิงเซี่ยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และถูกนำสายพันธุ์ไปเพาะปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนในกาลต่อมา ทุกวันนี้ เก๋ากี้ส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกอยู่ใน 20 กว่ามณฑลทั้งจีน รวมถึงยุโรป ประเทศแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน อเมริกาเหนือ และสหภาพโซเวียต ล้วนแล้วแต่มีบรรพบุรุษเป็นเก๋ากี้จากหนิงเซี่ยด้วยกันทั้งสิ้น


แต่เหตุใดหนิงเซี่ยจึงเป็นแหล่งผลิตเก๋ากี้ที่ดีที่สุด?






แม่น้ำเหลืองได้พัดพาเอาสารอาหารและแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์จากที่ราบสูงทิเบตผนวกกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้หนิงเซี่ยเป็นจุดกำเนิดของเก๋ากี้ที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพเฉพาะตัวแบบไร้ข้อเปรียบเทียบ ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ แหล่งผลิตเก๋ากี้แบ่งออกเป็น 3 เขตด้วยกัน ประกอบด้วย






1. เขตกานโจวในมณฑลกานซู (甘州) เรียกผลผลิตว่า “กานเก๋ากี้” (甘枸杞)






2. อำเภอจงหนิง เมืองจงเว่ยในเขตหนิงเซี่ย (เมื่อ 1,000 ปีก่อนอยู่ในเขตปกครองมณฑลส่านซี) เรียกผลผลิตว่า “ซีเก๋ากี้” (西枸杞)






3. เขตเทียนจิน ที่ว่ากันว่ามีการนำสายพันธุ์จาก หนิงเซี่ยไปพัฒนาในสมัยราชวงศ์ชิง เรียกว่า “จินเก๋ากี้” (津枸杞 ) โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน “ซีเก๋ากี้” ยังคงเป็นเก๋ากี้ที่คุณภาพดีที่สุดจวบจนปัจจุบัน






ประสบการณ์อันยาวนานเกี่ยวกับการเพาะปลูกเก๋ากี้ของชาวบ้านในพื้นที่อันสั่งสมจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้อำเภอจงหนิง เขตผลิต“ ซีเก๋ากี้” ในอดีตกาล ได้รับการประกาศให้เป็น “หมู่บ้านแห่งเก๋ากี้” ในปี พ.ศ. 2538 โดยเมล็ดเก๋ากี้จากจงหนิงยังได้รับถ้วยทองคำในงานพืชสวนโลกที่นครคุนหมิง ในปี 2543 จนทำให้มีคำกล่าวที่ว่า โลกมองเก๋ากี้ดีอยู่ที่จีน จีนมองเก๋ากี้ดีอยู่ที่หนิงเซี่ย ที่สุดของเก๋ากี้หนิงเซี่ยต้องที่จงหนิง ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ได้ก่อให้เกิดการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์เก๋ากี้” รวมถึงโครงการ “ ศูนย์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเก๋ากี้” ขึ้นในหนิงเซี่ย เพื่อสืบทอดและบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวิถีชีวิตของชาวบ้านและวัฒนธรรมเก๋ากี้ที่ดำเนินมาอย่างช้านาน รอการถ่ายทอดสู่ผู้มาเยือนจากทั่วโลก








วิวัฒนาการอุตสาหกรรมเก๋ากี้ในหนิงเซี่ย
ที่ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหนิงเซี่ยได้ให้การสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรเด่นในพื้นที่โดยมีอุตสาหกรรมเก๋ากี้เป็นแกนกลาง มาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเชิงลึก รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายรับและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ






 
รวบรวมโดย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน หมายเหตุ- ข้อมูลแสดงเป็นปี พ.ศ.  -หน่วยพื้นที่เป็น “หมู่”  (2.4 หมู่ = 1 ไร่ )
จากตาราง หนิงเซี่ยมีพื้นที่เพาะปลูกเก๋ากี้เพียง 26,000 หมู่ในปี 2540 แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในปีต่อ ๆ มาเฉลี่ยร้อยละ 17.3 จากนโยบายการพัฒนาพื้นที่การเพาะปลูกเก๋ากี้โดยมีอำเภอจงหนิงเป็นจุดศูนย์กลาง ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตเก๋ากี้จากหนิงเซี่ยในแต่ละปีเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของผลผลิตเก๋ากี้ภายในจีน ซึ่งข้อมูลในปี 2552 ชี้ว่า หนิงเซี่ยมีปริมาณการส่งออกเก๋ากี้มูลค่ากว่า 20.35 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 65







 
รวบรวมโดย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานหมายเหตุ - ข้อมูลแสดงเป็นปี พ.ศ.
ความนิยมของเก๋ากี้หนิงเซี่ยได้สร้างรายรับกว่าปีละ 1,500 ล้านหยวนสู่ชาวบ้านท้องที่ โดยในปี 2552 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าเก๋ากี้ของเขตหนิงเซี่ยคิดเป็นจำนวนถึงกว่า 2,100 ล้านหยวน นอกจากนี้ หนิงเซี่ยยังมีการตั้งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกให้ครบ 800,000 หมู่ ทำปริมาณผลผลิตเก๋ากี้แห้ง 160 ล้านตัน และพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าแปรรูปให้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2554






อนาคตแห่งเก๋ากี้ อุตสาหกรรมชั้นนำแห่งหนิงเซี่ย















คุณค่าทางอาหารและประโยชน์ที่มีอยู่เหลือคณานับในหนิงเซี่ยเก๋ากี้ไม่ได้เป็นเพียงคำบอกแค่คำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ผลการวิจัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เก๋ากี้กลายเป็นสินค้ากำลังได้รับความสนใจและการยอมรับจากกลุ่มผู้รักสุขภาพจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เก๋ากี้ไม่เพียงแต่ถูกจำหน่ายออกนอกเขตหนิงเซี่ยในรูปแบบเมล็ดแห้ง หากแต่ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปในหลายรูปแบบ เช่น กาแฟเก๋ากี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผลไม้สกัด ชายอดเก๋ากี้ ไวน์ น้ำมันเก๋ากี้ ขนมขบเคี้ยว และอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 50 ชนิดใน 10 ประเภทใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ปัจจุบัน หนิงเซี่ยมีผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับเก๋ากี้อยู่ทั้งสิ้นกว่า 140 บริษัท และมีถึง 27 แห่งที่เป็น Large -Scale Industry (มีมูลค่าการผลิตปีละกว่า 50 ล้านหยวนขึ้นไป) ซึ่งในปี 2552 เก๋ากี้สร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมในทุกระดับและแขนงในเขตหนิงเซี่ยรวมถึงกว่า 2,100 ล้านหยวน















อนึ่ง เก๋ากี้จากหนิงเซี่ยถูกส่งไปจำหน่ายในกว่า 70 เมืองใหญ่ทั่วจีน และอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก มีคำกล่าวว่า “ เก๋ากี้ ” จะไม่เป็นเพียงแค่สินค้าเกษตรชนิดหนึ่งของหนิงเซี่ยอีกต่อไป หากจะเป็นเสมือน “นามบัตร” ที่จะช่วยนำชื่อเสียงและเอกลักษณ์ของเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ยเผยแพร่สู่สายชาวโลก










ตารางแสดงปริมาณสารอาหารและแร่ธาตุในเมล็ดเก๋ากี้หนิงเซี่ย 100 กรัม
Calciam
112    มิลลิกรัม
Potassiam
1,132 มิลลิกรัม
Iron
     มิลลิกรัม
Zinc
2      มิลลิกรัม
Selenium
 50    ไมโครกรัม
Riboflavin (vitamin B2)
                       1.3   มิลลิกรัม
Vitamin C
     100  มิลลิกรัมขึ้นไป
Beta-carotene
                       7     มิลลิกรัม
Zeaxanthin
60 - 82 มิลลิกรัม
และ อื่น ๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น